วันจันทร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2551

นโยบายสาธารณะ: ความหมาย ทัศนะ และการวางผังเมือง

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ได้สรุปความหมายของคำว่า “นโยบายสาธารณะ”โดยมีที่มาจากการให้ความหมายของนักคิดต่างๆ ของฟากตะวันตกซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือ นโยบายสาธารณะ: แนวคิด การวิเคราะห์ และกระบวนการ (2541) ในหน้า 43 ไว้ว่า นโยบายสาธารณะคือ “กิจกรรมของรัฐบาลที่เลือกกระทำหรือไม่กระทำก็โดยมุ่งถึงค่านิยมและผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ โดยเป็นข้อบัญญัติที่ชอบด้วยกฏหมาย” นั่นคือมุมมองในความหมายจากนักคิดของคนไทย ในส่วนความหมายของนักคิดต่างประเทศ ขอยกตัวอย่างของนาย Peter B. Guy ในหนังสือ American Public Policy (1986) ในหน้า 4 ได้ให้ความหมายที่เข้าใจได้ง่ายของคำว่า Public Policy ดังนี้ Public Policy is the sum of activities of government, whether activity directly or through agents, as it has an influence on the live of citizens. ตามความหมายในภาคภาษาไทยที่กล่าวถึงได้ยึดถือเอาความชอบธรรมที่จะเกิดขึ้นกับสังคมส่วนรวมเป็นหลักและตอกย้ำถึงการที่จะต้องมีกฏหมายมารับรองในการกำหนดนโยบายสาธารณะด้วย เช่น นโยบายด้านสาธารณสุข นโยบายสวัสดิการสังคม นโยบายการสื่อสารโทรคมนาคม เป็นต้น อันแสดงถึงการอยู่ดีกินดีของประชาชนและการไม่ถูกริดรอนสิทธิที่พึงมีพึงได้ของประชาชน ขณะเดียวกันรัฐบาลอาจไม่เลือกกำหนดนโยบายสาธารณะขึ้นมาก็ได้ซึ่งถือได้ว่าเป็นนโยบายสาธารณะอย่างหนึ่งด้วยเช่นกันและอาจส่งผลกระทบในทางบวกและลบได้ เช่น นโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร แต่เปลี่ยนเป็นการรับสมัครแทน การไม่ใช้นโยบายการประกันการว่างงาน ทำให้คนตกงานไม่ได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาล เป็นต้น สำหรับการให้ความหมายของนาย Peter B. Guy (1986) เป็นการให้ความหมายของคำว่า Public policy ที่เข้าใจง่าย สื่อถึงทุกกิจการงานที่รัฐบาลกำหนดขึ้นและเสนอไปยังประชาชนหรือพลเมืองของรัฐทั้งในทางตรงและทางอ้อมโดยการผ่านตัวแทน และนโยบายเหล่านั้นจะส่งผลต่อวิถีชีวิตของพลเมืองรัฐ แสดงให้เห็นถึงการที่ประชาชนต้องยอมรับนโยบายนั้นที่มีผลกระทบทั้งทางบวกและลบ และอาจกล่าวได้ว่าทั้งรัฐบาลและพลเมืองจะใช้สิทธิและหน้าที่ของพลเมืองในการกำหนดนโยบายสาธารณะและการปฏิบัติตาม การกำหนดกฏระเบียบปฏิบัติการจัดการวางผังเมืองนับเป็นนโยบายสาธารณะเช่นกัน โดยพลเมืองที่อยู่ในอาณาบริเวณที่ชัดเจน เช่น เทศบาลในระดับต่างๆ พื้นที่เขตปกครองพิเศษ หรือพื้นที่คุ้มครองและอนุรักษ์ เป็นต้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือพลเมืองจะต้องปฏิบัติตามกฏระเบียบในการก่อสร้างอาคารหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมที่ได้กำหนดไว้ในกฏหมายผังเมือง ในแง่หนึ่งจะเกิดผลดีต่อชุมชนเมืองคือมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยและเกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ มีการอนุรักษ์ทรัพยากรที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม เป็นต้น แต่ในอีกด้านหนึ่งจะมีผลกระทบทางลบต่อชุมชนบ้าง เช่น การเวณคืนที่ดิน การเสียโอกาสทางการค้า และอาจจะเกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับหน่วยงานภาครัฐ แต่ปัจจุบันการกำหนดนโยบายการวางผังเมืองได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ถึงแม้ว่าประชาชนยังไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในขั้นตอนกระบวนการวางแผนได้ เพราะมีข้อจำกัดในด้านความรู้ ซึ่งประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้ในระดับการรับรู้ วิจารณ์แผน เสนอแนะ และท้วงทิงให้แก้ไขได้ภายใน 90 วัน จะเห็นว่าการกำหนดนโยบายสาธารณะด้านการวางผังเมืองโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนของไทยเราน่าจะมีทิศทางที่ดี โปร่งใส และเกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติมากขึ้น และคาดหวังว่าประชาชนจะสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนการวางแผนได้อย่างแท้จริง